03/03/2008
View: 3,454
ลักษณะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของคัมภีร์กุรอานก็คือคัมภีร์กุรอานได้ตกมาถึงเราในรูปแบบเดียวกับที่ได้ถูกประทานแก่ท่านนบีมุฮัมมัดและอัลลอฮฺได้ทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงรักษาคัมภีร์กุรอานไว้ไม่ให้สูญสลายไป พระองค์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “แท้จริง เราได้ส่งข้อตักเตือน(คัมภีร์กุรอานลงมา) และเราจะเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” (กุรอาน 15:9)
คัมภีร์ของพระเจ้าที่ได้ถูกประทานมาก่อนหน้าอิสลามนั้นไม่มีรูปแบบดั้งเดิมหลงเหลือให้เห็นอยู่อีกแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่สมบูรณ์และไม่มีความถูกต้อง อย่างไรก็ตามในกรณีของคัมภีร์กุรอาน อัลลอฮฺได้ให้วจนะของพระองค์ฝังอยู่ในความทรงจำของท่านนบีมุฮัมมัด นอกจากนั้นแล้ว หลังจากที่ท่านได้รับวจนะแต่ละครั้ง ท่านนบีก็จะบอกบรรดาสาวกของท่านให้จดบันทึกไว้เพื่อให้แน่ใจว่าวจนะของพระองค์จะถูกเก็บรักษาไว้ในรูปแบบดั้งเดิม ต่อมา อบูบักรฺ(ค.ศ.632-634)ได้รวบรวมข้อความกุรอานขึ้นเป็นต้นฉบับขึ้นมาเล่มหนึ่ง และเคาะลีฟะฮฺอุษมาน(644-656) ก็ได้คัดลอกจากต้นฉบับนั้นออกมาแจกจ่ายไปยังหัวเมืองสำคัญๆของมุสลิม ข้อความจากคัมภีร์กุรอานต่อไปนี้จะชี้ให้เราเห็นว่านบีของเราพยายามที่จะจดจำวจนะของพระองค์และพระองค์ได้ช่วยเหลือท่านอย่างไร
“จงอย่ากระดิกลิ้นของเจ้าเพื่อจะรีบจดจำอัลกุรอาน เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะรวบรวมกุรอานและการอ่านเพื่อให้จดจำ ดังนั้นเมื่อเราอ่านอัลกุรอาน เจ้าก็จงติดตามการอ่านนั้น หลังจากนั้นหน้าที่ของเราก็คือการอธิบายมัน” (กุรอาน 75:16-19)
จากข้อความดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่านบีของเราได้จดจำอัลกุรอานด้วยวิธีการพิเศษอย่างหนึ่ง เพราะอัลลอฮฺได้ทรงฝังข้อความของอัลกุรอานไว้ในจิตใจของท่าน ขณะที่บรรดาสาวกของท่านได้บันทึกสิ่งที่ท่านได้รับมาทั้งหมดนั้น ท่านยังมีชีวิตอยู่และทุกตัวอักษรที่ถูกบันทึกไว้เมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้วก็ยังคงอยู่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังนั้นวจนะของอัลลอฮฺในคัมภีร์กุรอานจึงยังคงอยู่รอดครบถ้วนมาถึงเราในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว การที่คัมภีร์กุรอานไม่มีข้อผิดพลาดและความขัดแย้งกันใดๆภายในตัวเองก็แสดงให้เราเห็นอีกเช่นกันว่าคัมภีร์กุรอานมาจากอัลลอฮฺและปลอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลง คัมภีร์กุรอานมีความสอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนจนอัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า : “พวกเขาไม่พิจารณดูอัลกุรอานบ้างหรือ ? หากว่าอัลกุรอานมาจากผู้ที่มิใช่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนพวกเขาก็จะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย” (กุรอาน 4:82)
หนังสือปกติทั่วไปสามารถที่จะมีความขัดแย้งกันหลายอย่างอยู่ภายใน แต่ทุกคำพูดในคัมภีร์กุรอานล้วนมีความสอดคล้องกันและกันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้แล้ว คัมภีร์กุรอานยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรและชุมชนในอดีต รูปแบบต่างๆของการบริหาร ยุทธศาสตร์ทางทหารและเรื่องอื่นๆตลอดจนเรื่องราวต่างๆในอดีตและในอนาคต คัมภีร์กุรอานยังมีความสอดคล้องกับความจริงทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากที่คัมภีร์กุรอานได้ถูกประทานลงมาด้วย ตัวอย่างเช่น ในอายะฮฺแรกของซูเราะฮฺ อัรรูม (อาณาจักรไบแซนติน)กล่าวว่าอาณาจักรไบแซนตินจะประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก แต่ถึงกระนั้นก็จะได้รับชัยชนะหลังจากนั้นในไม่ช้า เกี่ยวกับเรื่องนี้คัมภีร์กุรอานกล่าวว่า :
“อะลีฟ ลาม มีม พวกโรมันถูกพิชิตแล้วในดินแดนอันใกล้นี้ แต่หลังจากการปราชัยของพวกเขาแล้ว พวกเขาจะได้รับชัยชนะ” (กุรอาน 30:1-3)
อายะฮฺดังกล่าวข้างต้นได้ถูกประทานลงมาใน ค.ศ.620 ประมาณเกือบ 7 ปีหลังจากที่พวกเปอร์เซียผู้บูชาเทวรูปได้ปราบพวกไบแซนตินชาวคริสเตียน ความจริงแล้วการพ่ายแพ้อย่างยับเยินของอาณาจักรไบแซนตินในครั้งนั้นทำให้ทุกคนเชื่อว่าอาณาจักรไบแซนตินคงไม่สามารถที่จะกลับมามีอำนาจได้อีกแล้ว ดังนั้นคำพูดล่วงหน้าของคัมภีร์กุรอานจึงดูเหมือนว่าเป็นไปไมได้สำหรับหลายคนรวมทั้งพวกชาวอาหรับที่บูชาเทวรูปด้วย
ในเดือนธันวาคม ค.ศ.627 อาณาจักรไบแซนตินและอาณาจักรเปอร์เซียได้ทำสงครามตัดสินชะตากรรมขั้นเด็ดขาดกันที่นิเนเวห์ ในการทำสงครามครั้งนี้พวกไบแซนตินสามารถได้รับชัยชนะเหนือพวกเปอร์เซียอย่างไม่คาดฝัน หลังจากนั้นอีกสองสามเดือนพวกเปอร์เซียก็ต้องทำข้อตกลงคืนดินแดนที่ตัวเองยึดไปคืนให้แก่อาณาจักรไบแซนติน ในที่สุด“ชัยชนะของพวกโรมัน”ที่อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้ก็เป็นจริงอย่างมหัศจรรย์ ตัวอย่างนี้เพียงอย่างเดียวก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าคัมภีร์กุรอานเป็นวจนะของอัลลอฮฺ
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของคัมภีร์กุรอานก็คือคัมภีร์กุรอานมีความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับวิชาการต่างๆ (เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์และชีววิทยา) ในสมัยที่ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่น้อยมาก คัมภีร์กุรอานได้ถูกประทานลงมาแก่คนที่อาศัยอยู่ในอารเบียเมื่อศตวรรษที่ 7 ในขณะที่คนในสังคมนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ ปราศจากเครื่องมือตรวจสอบจักรวาลและธรรมชาติ ผู้คนสมัยนั้นเชื่อในตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ตัวอย่างเช่นพวกเขาเชื่อว่าภูเขาค้ำยันท้องฟ้าไว้ เชื่อว่าโลกแบนและมีภูเขาสูงในสองฟากเชื่อว่าภูเขาเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเสาค้ำฟ้าที่เป็นเหมือนหลังคาโค้งเหนือหัวพวกเขา คัมภีร์กุรอานได้ขจัดความเชื่อผิดๆเช่นนั้นโดยกล่าวว่า : “อัลลอฮฺคือผู้ทรงยกชั้นฟ้าทั้งหลายไว้โดยปราศจากเสาค้ำจุนซึ่งพวกเจ้ามองเห็นมัน...”(กุรอาน 13:2)
ความจริงทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างที่เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยโดยเทคโนโลยีเมื่อเร็วๆนี้ก็ได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานเมื่อ 1,400 ปีก่อนหน้านี้ ความจริงดังกล่าวก็เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่แสดงว่าคัมภีร์กุรอานเป็นวจนะของอัลลอฮฺ
คัมภีร์กุรอานได้ถูกเขียนเป็นภาษาที่สละสลวยและร่ำรวยด้วยความหมายจนไม่มีคำพูดปกติธรรมดาสามารถเลียนแบบได้ ในสมัยที่คัมภีร์กุรอานได้ถูกประทานมานั้นพวกกวีแห่งอารเบียได้แข่งขันกันที่จะสร้างงานกวีที่ดีที่สุดของตน แต่อย่างไรก็ตามลีลาอันสวยงามของกุรอานก็เหนือกว่าผลงานของกวีเหล่านั้นจนพวกเขาอดยอมรับไม่ได้ถึงลักษณะอันมหัศจรรย์ของคัมภีร์กุรอานในเชิงวรรณกรรม นอกเหนือไปจากนี้ก็ยังมีรหัสทางคณิตศาสตร์อันลึกซึ้งเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะคิดได้ บางคำได้ถูกกล่าวซ้ำในคัมภีร์กุรอานเท่ากับจำนวนของเวลา เช่นคำว่าวัน(เอกพจน์)ได้ถูกกล่าวไว้ 365 ครั้ง วัน(ที่เป็นพหูพจน์)ได้ถูกกล่าวซ้ำ 30 ครั้ง คำว่าเดือนถูกกล่าวไว้ 12 ครั้ง ชัยฏอนและมลาอิก๊ะฮฺได้ถูกกล่าวไว้ 88 ครั้ง โลกนี้และโลกหน้าได้ถูกกล่าวไว้ 115 ครั้ง ความร้อนของฤดูร้อนและความเย็นของฤดูหนาวได้ถูกกล่าวไว้ 5 ครั้ง การลงโทษถูกกล่าวไว้ 117 ครั้ง การให้อภัยได้ถูกกล่าวไว้ 234 ครั้ง(มากกว่าการลงโทษถึงสองเท่า) ความมั่งได้ถูกกล่าไว้ 26 ครั้งและความยากจนได้ถูกกล่าวไว้ 13 ครั้ง
ความจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์กุรอานเป็นวจนะของอัลลอฮฺ ไม่ใช่ของมนุษย์ อัลลอฮฺคือผู้ประทานวจนะของพระองค์แก่นบีมุฮัมมัดและยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ถูกประทานมา
อัลลอฮฺได้ทรงพูดถึงลักษณะอันสูงส่งนี้ไว้ว่า : “และถ้าหากสูเจ้ามีความสงสัยใดๆจากสิ่งที่เราได้ประทานลงมาแก่บ่าวของเราแล้ว ก็จงนำสักซูเราะฮฺหนึ่งที่เหมือนกันนี้มาและจงเรียกร้องผู้ที่อยู่ในหมู่สูเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺให้มาเป็นพยานหากสูเจ้าพูดจริง แต่ถ้าหากสูเจ้ายังมิได้ทำ และไม่มีทางที่จะทำได้ก็จงระวังไฟนรกซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และหินที่ได้ถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (กุรอาน 2:23-24)
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) หากมนุษย์และญินรวมกันที่จะทำสิ่งเดียวกันนี้ พวกเขาก็ไม่อาจที่จะทำเช่นนั้นได้ถึงแม้ว่าพวกเขาจะช่วยเหลือกันก็ตาม” (กุรอาน 17:88)
โดย ฮารูน ยะฮฺยา อ.บรรจง บินกาซัน แปล คัดลอกจากไทยมุสลิมช็อป
ความคิดเห็น