http://kaireyah.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 อัลกุรอ่าน

 วีดีโอ

 อิสลามใหม่

 ข่าวสารอิสลาม

 กุรอ่านแปลไทย

 ดุอาพื้นฐาน

 ติดต่อเรา

บริการ

หน้าแรก
บทความศาสนา
ฟังอัลกุรอ่าน
สนใจอิสลาม
ตัฟซีรกุรอาน
เว็บบอร์ด
เทปเรียนวันอาทิตย์
ตัฟซีรอัลกุรอ่าน
เวลาละหมาด จ.สตูล
รวมรูปภาพ
สมัครสมาชิก
สั่งซื้อสินค้า
ฆัยรียะฮ์เทรเวล
ดาวโหลดโปรแกรม
thai-school

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สินค้า

 เบเกอรี่ฆัยรีย๊ะ
 น้ำดื่มฆัยรีย๊ะฮ์

บทดุอา

รับฟังรายการ

อัลฮาดิษ

หนังสือน่าอ่าน

บทความศาสนา

ทีวีมุสลิม

นำโค๊ดไปติดเว็บ

ร่วมพูดคุย

สถิติ

เปิดเว็บ13/02/2008
อัพเดท07/03/2024
ผู้เข้าชม429,925
เปิดเพจ538,843
สินค้าทั้งหมด5
iGetWeb.com
AdsOne.com

มุสลิมจะร้องเพลง-ฟังเพลงได้ไหม ?

มุสลิมจะร้องเพลง-ฟังเพลงได้ไหม ?
 
เรื่องทั้งหมดของการร้องเพลงยังเป็นที่ขัดแย้งกันไม่ว่ามันจะเป็นเพลงที่มีเสียงดนตรีประกอบหรือไม่ก็ตาม บางเรื่องก็เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของนักวิชาการมุสลิมไปแล้วในขณะที่บางเรื่องก็ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน
 
นักวิชาการทั้งหมดมีทัศนะเป็นเอกฉันท์ในเรื่องการห้ามร้องเพลงและดนตรีทุกรูปแบบที่กระตุ้นให้เกิดการยั่วยุทางกามรมณ์ ส่อไปในทางลามก หยาบโลนหรือเป็นบาป ส่วนเรื่องเครื่องดนตรีนั้น กฎที่ใช้ในที่นี้ก็คือกฎที่กล่าวว่าทุกสิ่งเป็นที่อนุมัติมาตั้งแต่เดิม
 
การร้องเพลงก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำพูดที่เป็นทำนอง ถ้าหากถ้อยคำเหล่านี้ดี การร้องเพลงก็ถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ถ้าหากถ้อยคำของมันไม่ดี การร้องเพลงเช่นนั้นก็ถือเป็นสิ่งไม่ดี การพูดที่มีเนื้อหาเป็นที่ต้องห้ามก็เป็นสิ่งต้องห้าม จะเป็นอะไรถ้าหากว่าการพูดนั้นเป็นจังหวะและเป็นทำนอง ? นักวิชาการเห็นพ้องกันในเรื่องการอนุญาตให้ร้องเพลงโดยไม่ต้องมีเสียงดนตรีและเป็นเพลงที่เนื้อหาไม่เป็นที่ต้องห้าม การร้องเพลงประเภทนี้เป็นที่อนุญาตให้บางโอกาส เช่น การแต่งงาน การเลี้ยง การต้อนรับผู้เดินทาง และในทำนองนี้ นี่มาจากหะดีสของท่านนบี ซึ่งกล่าวว่า : “ท่านได้ถามว่า ‘ พวกท่านได้ให้อะไรเป็นของขวัญแก่เจ้าสาวหรือเปล่า ?’ พวกเขาตอบว่า ‘ ให้ครับ’ ท่านจึงได้ถามว่า ‘ท่านได้ส่งนักร้องไปพร้อมกับเธอหรือเปล่า ?’ นางอาอิชะฮ์ตอบว่า ‘ เปล่าค่ะ’ ท่านนบี จึงได้กล่าวว่า ‘ ชาวอันซอรเป็นคนที่รักบทกวี พวกท่านน่าจะส่งใครบางคนที่ร้องเพลง เรามาแล้ว เรามาหาท่าน จงทักทายเราเหมือนดังที่เราทักทายพวกท่าน’” ในกรณีนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่าผู้หญิงสามารถร้องเพลงต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันเองและต่อหน้าญาติผู้ชายที่ไม่สามารถแต่งงานกับเธอได้

ในเรื่องของเครื่องดนตรีนั้น นักวิชาการยังขัดแย้งกันในเรื่องนี้ บางคนอนุญาตการร้องเพลงทุกอย่างไม่ว่าจะมีเครื่องดนตรีประกอบหรือไม่ก็ตามและยังถือว่าเป็นเรื่องดีด้วย ส่วนผู้ทรงความรู้กลุ่มที่สองอนุญาตการร้องเพลงที่ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ กลุ่มที่สามประกาศว่ามันเป็นที่ต้องห้ามไม่ว่าจะมีเครื่องดนตรีหรือไม่มีก็ตามและถึงกับถือว่ามันเป็นบาปใหญ่ด้วย ในการสนับสนุนความคิดของพวกเขา พวกเขาได้อ้างหะดีสของอิมาม อัล-บุคอรีที่รายงานจากอบูมาลิกหรืออบูอะมีร อัล-อัชอะรีว่าท่านนบี ได้กล่าวว่า “ในหมู่ผู้ปฏิบัติตามฉันจะมีบางคนที่ถือว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศอย่างผิดกฎหมาย การสวมเสื้อผ้าไหม การดื่มเครื่องมึนเมาและการใช้เครื่องดนตรีเป็นที่อนุมัติ” ถึงแม้ว่าหะดีสนี้จะอยู่ในเศาะฮีฮ อัล-บุคอรี แต่สายรายงานก็ไม่ต่อเนื่องกันไปถึงท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งทำให้หลักฐานความน่าเชื่อถือของมันใช้ไม่ได้ อิบนุฮัซม์ก็ปฏิเสธหะดีสนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ฮิชาม อิบนุอัมมาร ผู้รายงานต่อก็ถูกนักวิชาการหะดีสประกาศว่าอ่อนหลักฐาน

นอกจากนั้นแล้ว หะดีสนี้ยังไม่ได้ห้ามการใช้เครื่องดนตรีไว้อย่างชัดเจนด้วยเพราะวลีที่ว่า “ถือว่าเป็นที่อนุมัติ” ตามอิบนุ อัล-อะเราะบี มีความหมายสำคัญสองประการคือ

ประการแรก คนเหล่านั้นคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด (สิ่งที่ถูกกล่าวถึง) เป็นที่อนุมัติ
ประการที่สอง พวกเขาเกินเลยขอบเขตอันเหมาะสมที่ควรจะปฏิบัติในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ถ้าตั้งใจจะหมายถึงประการแรก คนเหล่านั้นก็เป็นผู้ปฏิเสธ

ความจริงแล้ว หะดีสนี้ตำหนิลักษณะของคนกลุ่มหนึ่งที่หมกมุ่นอยู่ในความฟุ้งเฟ้อ การดื่มสิ่งมึนเมาและฟังดนตรี ดังนั้น อิบนุมาญะฮ์จึงเล่าหะดีสนี้จากอบูมาลิก อัล-อัชอารี ด้วยคำพูดดังต่อไปนี้ : “ในหมู่ผู้ปฏิบัติตามฉันจะมีบางคนที่ดื่มเหล้าโดยเรียกมันด้วยชื่ออื่นในขณะที่พวกเขาฟังเครื่องดนตรีและร้องเพลงของนักร้องหญิง อัลลอฮฺจะทำให้แผ่นดินกลืนพวกเขาและจะทำให้พวกเขากลายเป็นลิงและหมู”(หะดีสนี้ได้ถูกเล่าโดยอิบนุ ฮิบบาน)

ข้อสรุปเรื่องการอนุญาตเครื่องดนตรี
จากที่กล่าวมาข้างต้น มันเป็นที่ชัดเจนว่าตัวบททางศาสนาที่เป็นพื้นฐานสำหรับคนที่ถือว่าการร้องเพลงเป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)นั้นยังคงคลุมเครือหรือไม่ก็อ่อนหลักฐาน ไม่มีหะดีสใดที่โยงไปถึงท่านนบี และสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการตัดสินห้ามได้ ยิ่งไปกว่านั้น หะดีสเหล่านี้ทั้งหมดยังได้ถูกประกาศว่า “หลักฐานอ่อน”(เฎาะอีฟ) โดยผู้ปฏิบัติตามอิบนุฮัซม์, มาลิก, อิบนุฮัมบัล และอัชชาฟีอี

ในหนังสือเรื่อง “อัล-อะฮฺกาม” (ระเบียบกฎหมาย) ของอัล-กอฎี อบูบักร อิบนุ อัล-อะเราะบี เขากล่าวว่า “ไม่มีหะดีสใดที่กล่าวว่าการร้องเพลงเป็นสิ่งต้องห้ามถูกถือว่าเป็นที่เชื่อถือได้(โดยนักวิชาการหะดีส)” อัล-เฆาะซาลีและอิบนุ อัน-นะฮวีก็แสดงความเห็นเช่นนี้ไว้ในหนังสือ “อัล-อุมด๊ะฮฺ” อิบนุฏอฮิรกล่าวว่า “ไม่มีแม้แต่ตัวอักษรเดียวจากหะดีสเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นที่เชื่อถือได้” อิบนุฮัซม์กล่าวว่า “หะดีสทั้งหมดที่ถูกรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหะดีสที่ถูกกุขึ้นและเป็นเท็จ”


ข้อพิสูจน์ของบรรดาถือว่าการร้องเพลงเป็นที่อนุมัติ
ประการแรก : ข้อพิสูจน์ทางตัวบท : นักวิชาการกลุ่มนี้อาศัยเหตุผลจากโต้แย้งจากหะดีสของท่านนบี ดังต่อไปนี้ : ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้มายังบ้านของฉันในขณะที่เด็กผู้หญิงสองคนกำลังร้องเพลงเกี่ยวกับสงครามบุอาษ (สงครามระหว่างพวกเอาซ์และคอสรอจญ์ก่อนหน้าอิสลาม) อยู่ข้างๆฉัน ท่านนบี ได้นอนลงและหันหน้าของท่านไปอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้น อบูบักร์กเข้ามาแล้วพูดกับฉันด้วยเสียงดุว่า ‘เครื่องดนตรีของชัยฏอนใกล้ท่านนบี’ ดังนั้น ท่านรอซูลุลลอฮฺ จึงได้หันมายังเขาและกล่าวว่า ‘ ปล่อยพวกเธอเถอะ ’เมื่ออบูบักรเลิกสนใจแล้ว ฉันก็ให้ส่งสัญญาณให้เด็กผู้หญิงเหล่านั้นออกไปและพวกเธอก็ออกไป” (เศาะฮีฮ์ อัล-บุคอรี) นี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงสองคนนั้นไม่ใช่เด็กเล็กอย่างที่นักวิชาการบางคนอ้าง ถ้าหากเป็นเด็กเล็ก อบูบักร์ก็คงจะไม่โกรธเด็กในลักษณะเช่นนั้น นอกจากนั้นแล้ว ในหะดีสนี้ ท่านนบี ยังต้องการที่จะสอนพวกยิวว่าอิสลามมีช่องว่าสำหรับความบันเทิงและท่านเองก็ได้ถูกส่งมาพร้อมกับกฎที่เป็นสายกลางและยืดหยุ่น ตรงนี้มีบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งด้วย กล่าวคือ มันทำให้เราเห็นถึงความจริงว่าเราจำเป็นที่จะต้องนำอิสลามไปยังผู้อื่นในลักษณะที่ดีพร้อมกับแสดงความเป็นสายกลางและใจกว้าง

ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถที่จะยกวจนะของอัลลอฮฺมาอ้างได้ว่า : “และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าและการรื่นเริง พวกเขาก็กรูกันไปที่นั่นและปล่อยเจ้าให้ยืนอยู่คนเดียว (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่าสิ่งที่มีอยู่ที่อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการรื่นเริงและการค้า และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศยิ่งในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ” (กุรอาน 62:11)

ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺพูดถึงเรื่องการรื่นเริงกับการค้า แต่พระองค์ไม่ได้ตำหนิสิ่งทั้งสอง พระองค์เพียงแต่ตำหนิบรรดาสาวกที่ทิ้งท่านนบีมุฮัมมัด ไว้ให้กล่าวคำเทศนาวันศุกร์ตามลำพังโดยกรูกันไปสนใจกองคาราวานและการตีกลองฉลองที่กองคาราวานมาถึง

ประการที่สอง : ในเรื่องเจตนารมณ์และพื้นฐานของอิสลาม เป็นเรื่องจริงที่อัลลอฮฺได้ทรงห้ามสิ่งดีๆในชีวิตโลกนี้สำหรับพวกลูกหลานอิสราเอลเพื่อเป็นการลงโทษการทำผิดของคนพวกนี้ พระองค์ทรงกล่าวว่า “ เนื่องจากความผิดที่พวกยิวได้ทำไว้ เราจึงได้ห้ามสิ่งดีๆที่เราเคยอนุมัติให้พวกเขาและเพราะว่าพวกเขาขัดขวางทางของอัลลอฮฺและเพราะพวกเขาเอาดอกเบี้ยทั้งๆที่มันเป็นที่ต้องห้ามแล้วและเพราะพวกเขากินทรัพย์สินของคนอื่นโดยไม่เป็นธรรม เราจึงได้เตรียมการลงโทษอันเจ็บแสบไว้แล้วสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (กุรอาน 4:160-161)

ก่อนที่จะส่งท่านนบีมุฮัมมัด มา พระองค์ได้กล่าวถึงท่านในคัมภีร์ก่อนๆนี้ว่า “บรรดาผู้ปฏิบัติตามรอซูล นบีที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้ซึ่งพวกเขาพบว่าได้มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์เตารอตและอินญีลที่อยู่กับพวกเขา เขาจะสั่งใช้พวกเขาในสิ่งที่ถูกต้องและห้ามพวกเขาในสิ่งที่ผิด เขาจะทำให้สิ่งดีเป็นที่อนุมัติสำหรับพวกเขาและจะห้ามสิ่งที่ไม่ดีสำหรับพวกเขา”(กุรอาน 7:157)

ดังนั้น อิสลามจึงไม่ทิ้งสิ่งดีไว้ แต่ได้ประกาศว่ามันเป็นที่อนุมัติ (หะลาล) นี่เป็นสัญญาณหนึ่งของความเมตตาต่อประชาชาตินี้โดยการเดินไปตามคำสอนที่มีขอบเขตกว้าง อัลลอฮฺทรงกล่วว่า “พวกเขาถามเจ้า(มุฮัมมัด)ว่าอะไรที่เป็นที่อนุมัติสำหรับพวกเขา จงตอบเถิดว่าสิ่งดีทั้งหมดได้ถูกอนุมัติสำหรับพวกท่าน” (กุรอาน 5:4)

ถ้าเราจะมองอะไรให้ลึกลงไปในเรื่องนี้ เราจะพบว่าความชอบที่จะร้องเพลงและเสียงดนตรีนั้นเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เราสามารถกล่อมเด็กในเปลให้หลับโดยการร้องเพลง แม่และพี่เลี้ยงเด็กมักจะชอบร้องเพลงให้ทารกและเด็กที่ตัวเองเลี้ยงดู ยิ่งไปกว่านั้น นกและสัตว์ก็ตอบสนองต่อเสียงที่ไพเราะและเสียงดนตรีที่เป็นจังหวะ

ดังนั้น ถ้าหากการร้องเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่อิสลามจะไปฝ่าฝืนสัญชาติญาณของมนุษย์ อิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า “ท่านนบี ได้ถูกส่งมาขัดเกลาและจัดระเบียบวินัยสัญชาติญาณของมนุษย์ ไม่ใช่มาเปลี่ยนหรือมาแก้ไขมัน” นี่ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหะดีสของท่านนบี ที่ว่า “เมื่อท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้มายังมะดีนะฮ์ ท่านได้เห็นพวกเขาเฉลิมฉลองกันเป็นเวลาสองวัน ท่านได้กล่าวถามว่า ‘วันอะไรกันซิ ?’ พวกเขาตอบว่า ‘เราเคยรื่นเริงกันในวันเหล่านี้ในระหว่างยุคก่อนหน้าอิสลาม ท่านได้กล่าวว่า ‘แท้จริง อัลลอฮฺได้ให้โอกาสท่านสองวันซึ่งดีกว่านั่นคือวันอีดุลอัฎฮาและวันอีดุลฟิฏร์” (รายงานโดยอะหมัด,อบูดาวูดและอันนะซาอี)

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากการร้องเพลงถูกถือว่าเป็นการรื่นเริงและการละเล่น มันก็ไม่เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จำเป็นต้องมีเวลาบ้างสำหรับการผ่อนคลายและการรื่นเริง ท่านนบี ได้กล่าวแก่ฮันซาละฮ์ที่คิดว่าตัวเองเป็นพวกตลบตะแลงที่ห่วงดูแลภรรยาและลูกและทำให้เขาเปลี่ยนแปลงเมื่ออยู่ห่างจากท่านรอซูลุลลอฮฺ ว่า “ ฮันซาละฮ์เอ๋ย ท่านควรจะให้ให้เวลาส่วนหนึ่งสำหรับเรื่องทางโลกและอีกส่วนหนึ่งสำหรับการนมาซ” (รายงานโดยมุสลิม)

อะลี อิบนุ อบูฏอลิบกล่าวว่า “จงทำให้ตัวท่านเองสนุกสนานรื่นเริงบ้างเป็นบางครั้งเพราะถ้าหากหัวใจตึงเครียดเกินไปมันจะบอดเอา”

อบูดัรดาได้กล่าวว่า “ฉันทำให้ตัวฉันเองสดชื่นเสมด้วยการสนุกสนานเพื่อที่จะทำให้ตัวฉันเองเข้มแข็งในหนทางที่ถูกต้อง”

อิมามเฆาะซาลีได้ตอบบางคนที่ถามท่านว่า : “การร้องเพลงมิใช่การละเล่นและการรื่นเริงชนิดหนึ่งหรือ ?” ท่านกล่าวว่า : “ใช่ แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันนี้เป็นแค่เพียงการละเล่นและการรื่นเริง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสามีและภรรยาของเขาก็เป็นการละเล่นยกเว้นการมีความสัมพันธ์ทางเพศที่เป็นสาเหตุโดยตรงของการก่อให้เกิดบุตร นี่เป็นสิ่งที่ถูกรายงานมาจากรอซูลุลลอฮฺ และสาวกอันทรงเกียรติของท่าน”

ความจริงแล้ว เวลาพักผ่อนเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจสดชื่นและเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดในเวลาเดียวกัน ความตึงเครีดและความจริงจังมากเกินไปจะทำให้หัวใจเหนื่อยอ่อนและมืดบอด

การทำให้ตัวเองรื่นเริงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองสดชื่นและเข้มแข็ง คนที่ทำงานหนักต่อเนื่องกันควรจะพักสักครู่หนึ่งเพื่อที่จะฟื้นฟูให้พลังของตัวเองกลับมาอีกครั้ง เพราะมิเช่นนั้นแล้วเขาจะต้องมีปัญหาในอนาคต เมื่อใครคนหนึ่งพัก เรี่ยวแรงและพลังของเขาก็จะกลับคืนมา บรรดานบีเท่านั้นที่สามารถทนต่อความตึงเครียดอย่างหนักได้ การมีเวลาพักผ่อนเป็นรูปแบบหนึ่งของการรักษาโรคแห่งตัวตน เป็นการรักษาความเหนื่อยล้าและความเบื่อหน่าย แต่การพักผ่อนจะต้องไม่เกินเลยขอบเขตเพราะมันเป็นขัดกับเรื่องของการทำให้หัวใจรื่นเริงเพื่อที่จะทำให้มันสามารถเดินต่อไปได้ คนที่คุ้นเคยและมีประสบการณ์ในธรรมชาติของหัวใจและตัวตนของมนุษย์รู้ว่าการพักผ่อนหย่อนคลายเป็นการปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับชีวิตที่ดีของตนเอง ข้อพิสูจน์ถึงการอนุญาตร้องเพลงเหล่านี้ได้มาจากตัวบทและกฎระเบียบของอิสลาม และสิ่งเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความกระจ่างให้เรื่องนี้ได้

นอกจากนั้น ชาวมะดีนะฮฺผู้เคร่งครัดและเกรงกลัวพระเจ้าชาวซอฮิรียะฮฺผู้รู้ดีถึงหลักฐานของตัวบทและพวกซูฟีที่เข้มงวดในการปฏิบัติตนก็ยังถูกอ้างว่าการร้องเพลงเป็นที่อนุญาต

อิมาม เชากานีกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “นัยลุ้ลเอาตอร” ว่า “ชาวมะดีนะฮฺและบรรดาผู้คนในหมู่ชาวซอฮิรียะฮฺและพวกซูฟีถือว่าการร้องเพลงเป็นที่อนุญาต แม้จะมีเครื่องดนตรีประกอบ เช่นขลุ่ย อบูมันซูร อัล-บุฆดาดี อัช-ชาฟิอีเล่าว่าอับดุลลอฮฺ อิบนุญะฟัรเห็นว่าไม่มีอะไรผิดในการร้องเพลงและเขาเองก็เคยแต่งเพลงให้ทาสของเขาร้องต่อหน้าเขา เรื่องนี้เกิดขึ้นในระหว่างสมัยของอะลี อิบนุ อบูฏอลิบ เป็นผู้นำ อบูญะฟัร อัล-บุฆดาดีเล่าเรื่องนี้หลังกอฎีชุร็อยฮ์, ซะอ์ดี อิบนุ อัล-มุซ้ยยิบ , อะฏอ อิบนุรอบาฮ์, อัซ-ซุฮรีและอัช-ชะอ์บี อัร-รุวัยยานีเล่าจากอัล-ก็อฟฟาลว่ามาลิก อิบนุอะนัสถือว่าการร้องเพลงพร้องเครื่องดนตรีเป็นที่อนุญาต นอกจากนั้นแล้ว อบูมันซูร อัล-ฟุรอนีก็อ้างว่ามาลิกกล่าวว่าการเล่นขลุ่ยเป็นที่อนุญาต

อบู อัล-ฟัดล์ อิบนุ ฏอฮิรเล่าว่า “ชาวมะดีนะฮฺไม่เคยโต้เถียงกันเรื่องการอนุญาตให้เล่นขลุ่ย”

อิบนุอัน-นะฮวีเล่าไว้ในหนังสือ “อัล-อุมด๊ะฮฺ” ของเขาว่า : “ อิบนุฏอฮิรได้กล่าวว่าชาวมะดีนะฮฺได้แสดงความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ พวกซอฮิรียะฮฺทั้งหมดก็กล่าวเช่นเดียวกัน” อัล-เมาริดีได้บอกเล่าถึงการอนุญาตให้เล่นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งซึ่งมีรูปทรงคล้ายน้ำเต้า และอัล-อัดฟูวีก็ตัดสินว่านี่เป็นที่อนุญาต

นักวิชาการเหล่านี้ทั้งหมดถือว่าการ้องเพลงที่มีเครื่องดนตรีประกอบเป็นที่อนุญาต แต่ส่วนเรื่องการร้องเพลงที่ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบนั้น อัล-อัดฟูวีได้กล่าวว่า ในหนังสือเกี่ยวกับนิติศาสตร์บางเล่มอิมามเฆาะซาลีกล่าวถึงมติของบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ว่าเป็นที่อนุญาต อิบนุฏอฮิรก็กล่าวถึงมติเอกฉันท์ของสาวกของท่านนบี และบรรดาคนรุ่นหลังสาวกในเรื่องนี้ อิบนุ อัน-นะฮวีกล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อุมด๊ะฮฺ”ว่าการร้องเพลงและการการฟังเพลงเป็นที่อนุญาตโดยสาวกกุล่มหนึ่งและผู้ปฏิบัติตามสาวกเหล่านั้น


เงื่อนไขและข้อกำหนด
อย่างไรก็ตามมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการฟังเพลงบางอย่างดังนี้

1) มิใช่ว่าการร้องเพลงทุกอย่างเป็นที่อนุญาต เพลงที่อนุญาตนี้จะต้องสอดคล้องกับหลักคำสอนและจริยธรรมอิสลาม ดังนั้นเพลงที่ร้องเพื่อยกย่องสรรทรราชย์และผู้ปกครองที่ทุจริตนั้นไม่สอดคล้องกับคำสอนของอิสลาม เพราะอิสลามต่อต้านผู้ล่วงละเมิดและพันธมิตรของผู้ล่วงละเมิดและบรรดาผู้เฉยเมยต่อการล่วงละเมิด

2) วิธีการร้องเพลงก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเนื้อหาของเพลงดี แต่การแสดงออกของผู้ร้องที่มีเจตนากระตุ้นหรือเร้าอารมณ์ใคร่และยั่วยวน การร้องเพลงเช่นนั้นก็อาจจะเข้าข่ายต้องห้าม หรือเป็นที่สงสัยหรือน่ารังเกียจ คัมภีร์กุรอานได้กล่าวแก่บรรดาภรรยาของท่านนบีมุฮัมมัด ว่า “โอ้ภรรยาของนบีเอ๋ย พวกเธอไม่เหมือนกับผู้หญิงอื่นๆ ถ้าหากพวกเธอระวังรักษาหน้าที่ของพวกเธอต่ออัลลอฮฺ ดังนั้น ก็จงอย่าพูดจาเสียงอ่อนหวานเพราะเกรงว่าบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาเป็นโรคอาจจะคิดไม่ดี แต่จงพูดด้วยน้ำเสียงปกติ” (กุรอาน 33:32) ดังนั้นเราจะต้องระวังเรื่องดนตรีเมื่อมันมีคำร้องที่ใช้เสียงออเซาะประกอบเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองให้เคลิบเคลิ้มและแสงสีต่างๆ

3) การร้องเพลงจะต้องไม่มีอะไรที่เป็นที่ต้องห้ามประกอบ เช่น สิ่งมึนเมา การเปิดเผยเรือนร่างหรือการเปลือยกาย การอยู่ร่วมปะปนกันหรือมั่วสุมกันระหว่างชายหญิงอย่างที่เห็นกันในผับและไนท์คลับ

4) อิสลามห้ามการเกินเลยขอบเขตในทุกเรื่องแม้แต่ในเรื่องของการนมาซ

ดังนั้น ในการพักผ่อนและรื่นเริงก็เช่นกันถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นที่อนุญาตก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าช่องว่างของความคิดและหัวใจนั้นจะต้องได้รับการรักษาไว้และแก้ไขในระหว่างการมีชีวิตในช่วงสั้นๆของมนุษย์ เราจะต้องรู้ว่าอัลลอฮฺจะถามเราทุกคนเกี่ยวกับชีวิตของและโดยเฉพาะวัยหนุ่มของเราว่าเราใช้มันไปอย่างไร?

มีบางสิ่งที่เขาจะต้องตัดสินด้วยตัวของเขาเอง ถ้าหากมีการร้องเพลงบางอย่างที่เร้าอารมณ์ปรารถนาของเขาและนำเขาห่างออกไปจากชีวิตจริง เขาควรจะหลีกเลี่ยงมันแล้วปิดประตูนั้นไม่ให้ลมแห่งการทดสอบและล่อลวงเข้ามาทำลายศาสนา ศีลธรรมและหัวใจของเขาหรือไม่ ถ้าหากเขาทำ เขาก็จะมีชีวิตอยู่อย่างสงบ


คำเตือนสำหรับการใช้คำว่า“หะรอม”
ในการสรุปเรื่องนี้ เราขอกล่าวกับบรรดาผู้มีความรู้ที่ชอบใช้คำว่า “หะรอม”อย่างพล่อยๆในการออกคำตัดสินปัญหา ขอให้คนเหล่านี้ตระหนักว่าอัลลอฮฺกำลังเฝ้ามองเขาอยู่ในทุกเรื่องที่เขาพูดและทำ พวกเขาควรจะรู้ว่าคำว่า “หะรอม” มีอันตรายมาก มันหมายถึงการลงโทษของอัลลอฮฺต่อการกระทำหรือคำพูดบางอย่าง
ดังนั้นจึงไม่ควรจะพูดออกมาจากการเดา หรือพูดตามอำเภอใจหรือใช้หะดีสอ่อนหลักฐานมาอ้าง มันจะต้องมีตัวบทหรือมติเอกฉันท์ที่ชัดเจนมาสนับสนุน ถ้าหากไม่มีสองสิ่งนี้แล้วเราก็หันกลับไปยังกฎระเบียบเรื่องการอนุญาตดั้งเดิมที่ใช้กับสิ่งต่างๆ เรามีตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งจากนักวิชาการผู้คุณธรรมในยุคก่อนไว้ให้ปฏิบัติตาม อิมามมาลิก กล่าวว่า “มันไม่ใช่นิสัยของคนก่อนหน้าเรา มุสลิมผู้ทรงคุณธรรมก่อนหน้านี้ที่สร้างตัวอย่างที่ดีไว้ให้คนรุ่นหลังปฏิบัติตามนั้นที่จะกล่าวว่า ‘นี่เป็นสิ่งที่หะลาล(เป็นที่อนุมัติ) และนี่เป็นสิ่งที่หะรอม (เป็นที่ต้องห้าม) แต่พวกเขาจะกล่าวว่า ‘ ฉันไม่ชอบนั่นไม่ชอบนี่และถือปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สำหรับเรื่องหะลาลและหะรอมนั้น มันเป็นสิ่งที่อาจถูกเรียกว่าสร้างเรื่องโกหกให้อัลลอฮฺ พวกท่านไม่ได้ยินวจนะของอัลลอฮฺหรือว่า : จงกล่าวเถิด สูเจ้าไม่พิจารณาบ้างหรือว่าอัลลอฮฺได้ประทานปัจจัยอะไรให้สูเจ้าบ้าง แล้วสูเจ้ากลับมาทำบางส่วนของมันให้เป็นที่อนุมัติและบางส่วนของมันเป็นที่ต้องห้าม? จงกล่าวเถิด อัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติแก่สูเจ้าแล้ว หรือสูเจ้าจะมาสร้างเรื่องโกหกให้แก่อัลลอฮฺ ? (กุรอาน 11:59) เพราะหะลาลคือสิ่งที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์อนุมัติและหะรอมคือสิ่งที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ห้าม”

Tags :

view

 Muslimthai

 บรรยายธรรมอิสลาม

 คณะกรรมการกลางอิสลาม

วิทยุเสียงอิสลาม

 อิสลามอินไทยแลนด์

อนาชีด

view