03/03/2008
View: 6,561
1. ชื่อผู้แต่ง
ท่านคือ อิมาม อบุลหะสัน มุสลิม บิน อัลหัจญาจ บิน มุสลิม บิน วัรดฺ บิน เกาชัซฺ อัลกุชัยรีย์ อัลนัยสาบูรีย์ เกิดที่เมืองนัยสาบูร เมื่อปี 204 ฮ.ศ. และเสียชีวิตเมื่อปี 261 ฮ.ศ. เมื่ออายุได้ 57 ปี
2. สาเหตุของการเขียนและชื่อหนังสือ
อิมามมุสลิมได้กล่าวถึงแรงดลใจที่ทำให้ท่านต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในบทนำของท่านพอจะสรุปความได้ว่า มีคนมาร้องขอให้ท่านทำการคัดเฟ้นหะดีษที่ถูกต้องและไม่ซ้ำกันที่รายงานมาจากท่านรสูล เพื่อความสะดวกในการศึกษาและง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ดังนั้นท่านจึงได้ทุ่มชีวิตของท่านทำการคัดเฟ้นจากจำนวนหะดีษทั้งสิ้น 300,000 หะดีษ และบันทึกหะดีษดังกล่าวไว้เป็นเล่มเป็นเวลาถึง 15 ปี เต็ม หลังจากนั้นท่านได้เสนอให้เชค อบู ซุรอะฮฺ อัลรอซีย์ ได้ตรวจทาน และทุกครั้งที่ อบูซุรอะฮฺ กล่าวว่าหะดีษใดมีตำหนิท่านก็จะลบหะดีษนั้นทิ้งทันที จนกระทั่งท่านแน่ใจว่าหะดีษต่างๆที่เหลือเป็นหะดีษที่ถูกต้องทั้งสิ้น และท่านได้ตั้งชื่อหนังสือของท่านว่า "อัลญามิอุส เศาะหีหฺ" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ "เศาะหีหฺมุสลิม" นั่นเอง
3. ความสำคัญของหนังสือ
อุลามาอฺส่วนใหญ่มีมติเห็นพ้องกันว่า หนังสือเศาะหีหฺมุสลิมเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุด รองลงมาจากหนังสือเศาะหีหฺ อัลบุคอรีย์ มีเพียงอุลามาอฺส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่า หนังสือเศาะหีหฺมุสลิมเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุดเหนือเศาะหีหฺอัลบุคอรีย์ ดังที่ท่านอบู อาลี อัลนัยสาบูรีย์กล่าวไว้ว่า "ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับวิชาหะดีษใต้แผ่นฟ้านี้ที่ถูกต้องมากกว่าหนังสือของมุสลิม" (ดู ญามิอุลอุศูล 1/188)
4. จำนวนหะดีษในเศาะหีหฺมุสลิม
ยังไม่มีผู้ศึกษาคนใดยืนยันอย่างแน่นอนว่าจำนวนหะดีษในเศาะหีหฺมุสลิมมีเท่าใด แต่จากการนับจำนวนหะดีษในหนังสือ มิฟตาหฺ กุนูซุล สุนนะฮฺ พบว่า หะดีษในเศาะหีหฺมุสลิมมีทั้งหมดประมาณ 7,581 หะดีษ และในหนังสือเศาะหีหฺมุสลิมที่ศึกษา(ตัฮกีก)โดย เชค มุหัมมัด ฟุอาด อับดุลบากีย์ พบว่าจำนวนหะดีษที่ไม่ซ้ำกันในเศาะหีหฺมุสลิมมีทั้งสิ้นประมาณ 3,033 หะดีษ วัลลอฮุ อะอฺลัม.
5. ข้อแม้และวิธีการเขียนของมุสลิม
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อ บุคอรีย์ ซึ่งเป็นเชคของมุสลิมได้เขียนหนังสือเศาะหีหฺขึ้นมาแล้วและอุลามาอฺต่างยอมรับถึงความถูกต้องของหนังสือเล่มนั้น ซึ่งในจำนวนอุลามาอฺดังกล่าวมีมุสลิมรวมอยู่ด้วย แล้วทำไมมุสลิมจึงต้องรวบรวมหะดีษเศาะหีหฺขึ้นมาอีก ? คิดว่าข้อแม้และวิธีการรวบรวมหะดีษของมุสลิมต่อไปนี้คงจะเป็นคำตอบได้ดีต่อข้อสงสัยดังกล่าว
1. ท่านเน้นความละเอียดอ่อนในด้านการรายงานหะดีษ โดยท่านจะแยกแยะระหว่างหะดีษที่รายงานโดยใช้สำนวน อัคบะเราะนา กับ หัดดะษะนา และจะยึดมั่นกับตัวบทที่ได้รับรายงานมาอย่างเคร่งครัด จากจุดนี้ทำให้อิมามนะวะวีย์ชี้ว่าเป็นข้อแม้ที่เหนือกว่าข้อแม้ของบุคอรีย์
2. ท่านเลือกบันทึกหะดีษที่มีสายรายงานมาถึงท่านจากสองสายรายงานขึ้นไปเท่านั้นตลอดสายรายงานโดยท่านจะยึดกับปฏิบัติตามหะดีษที่เกี่ยวกับข้อแม้ของการเป็นพยานบุคคลซึ่งต้องมีอย่างน้อยสองคน ซึ่งสิ่งดังกล่าวไม่ใช่ข้อแม้ของบุคอรีย์
3. ท่านได้รวบรวมตัวบทหะดีษของแต่ละสายรายงานมาไว้ที่เดียวกันหมดโดยปราศจากการตัดทอนตามบท(บาบ) หรือหัวข้อต่างๆดังที่บุคอรีย์ได้ทำไว้
4. ก่อนการบันทึกท่านจะแบ่งหะดีษและนักรายงานออกเป็นสามระดับ คือ
4.1 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่จดจำอย่างแม่นยำ
4.2 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่มีความจำปานกลาง
4.3 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อนและถูกทิ้ง แล้วท่านก็จะบันทึกหะดีษที่มาจากนักรายงานที่แม่นยำไว้เป็นบรรทัดฐาน ตามด้วยหะดีษที่มาจากนักรายงานที่มีความจำปานกลาง ส่วนหะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อนท่านก็คัดออก
5. ท่านเห็นว่าการรายงานจากนักรายงานที่อยู่ร่วมสมัยกันนั้น ถึงแม้ว่าไม่เคยมีรายงานว่าเขาทั้งสองเคยพบกันก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะบ่งบอกถึงความต่อเนื่องและไม่ขาดตอนของสายรายงาน ซึ่งผิดกับข้อแม้ของบุคอรีย์ที่จำเป็นต้องแนย่ใจว่าเขาทั้งสองเคยพบหน้ากัน
6. การให้ความสำคัญของอุลามาอฺ
บรรดาอุลามาอฺได้ให้ความสำคัญกับหนังสือเศาะหีหฺมุสลิมไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญของพวกเขาต่อเศาะหีหฺบุคอรีย์เลย ซึ่งบางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะตัวบทของหะดีษเท่านั้นโดยตัดสายรายงานออก บางท่านทำการเพิ่มเติมหะดีษเศาะหีหฺที่คิดว่าอยู่ในข้อแม้ของมุสลิมแต่ไม่ได้ใส่ไว้ในหนังสือของท่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของหนังสือ มุสตัดร็อก และหลายท่านทำการอธิบายและวิเคราะห์ถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ และในบรรดาหนังสืออธิบายที่เป็นที่กล่าวขานและเป็นที่รอมรับกันของอุลามาอฺอิสลามได้แก่หนังสือ อัลมินฮาจ ชัรหฺ เศาะหีหฺมุสลิม บิน อัลหัจญาจ ของอิมามนะวะวีย์ วัลลอฮุ อะลัม...
คัดลอกจาก: ห้องสมุดอิสลามยะลา
ความคิดเห็น