ชื่อผู้เขียน
ท่านคือ อบูอับดิลลาฮฺ มุหัมมัด บิน อิสมาแอล บิน อิบรอหีม บิน อัลมุฆีเราะฮฺ บิน บัรดิซฺบะฮฺ อัลญุอฺฟีย์ อัลบุคอรีย์. เกิดที่เมืองบุคอรอ รัสเซีย เมื่อปี 194 ฮ.ศ. และเสียชีวิต เมื่อปี 256 ฮ.ศ. เมื่ออายุได้ 62 ปี
สาเหตุของการเขียนและชื่อเต็มของหนังสือ
บุคอรีย์เป็นคนแรกที่ได้คัดเลือกและรวบรวมหะดีษที่เศาะหีหฺหรือถูกต้องเท่านั้นเขียนขึ้นเป็นตำรา ท่านได้ให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มนี้มาก กว่าจะออกเป็นเล่มได้ท่านต้องทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาถึง 16 ปีเต็ม หะดีษที่ท่านได้รวบรวมไว้เป็นยอดหะดีษที่ได้กลั่นกรองและคัดเฟ้นจากหะดีษต่างๆกว่า 60,000 หะดีษ เหตุผลหนึ่งที่บุคอรีย์มุ่งมั่นเขียนตำราเล่มนี้ขึ้นมาเพราะท่านเห็นว่าตำราหะดีษที่ถูกเขียนขึ้นมาก่อนหน้าท่านนั้นเคล้าด้วยหะดีษเศาะหีหฺ หะสัน และเฏาะอีฟ ซึ่งทำให้คนอ่านที่ไม่ใช่นักหะดีษไม่อาจแยกแยะได้ระหว่างหะดีษเหล่านั้น ท่านได้ตั้งชื่อหนังสือว่า "อัลญามิอุลมุสนัด อัลเศาะหีหฺ อัลมุคตะศ็อร มิน อุมูร รสูลิลลาฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม วะสุนะนิฮี วะอัยยามิฮี" หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม "เศาะหีหฺบุคอรีย์"
ความสำคัญของหนังสือ
ดูจากเป้าหมายในการเขียนของบุคอรีย์จึงไม่เป็นการแปลกเลยถ้าบุคอรีย์จะโด่งดังเนื่องจากหนังสือญามิอุลเศาะหีหฺเล่มนี้ของท่าน เพราะบรรดาอุละมาอฺต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า "หนังสือญามิอุลเศาะหีหฺเป็นหนังสือที่ถูกต้องมากที่สุดหลังจากอัลกุรอาน"
จำนวนหะดีษในเศาะหีหฺบุคอรีย์
อิบนุลเศาะลาหฺกล่าวว่า จำนวนหะดีษในเศาะหีหฺบุคอรีย์มีทั้งหมด 7,275 หะดีษ ส่วนหะดีษทีไม่ซ้ำกันมีจำนวนเพียง 4,000 หะดีษ
ข้อแม้และวิธีเขียนของบุคอรีย์
บุคอรีย์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงข้อแม้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่เราสามารถสัมผัสถึงข้อแม้ของท่านจากหลายๆด้าน อาทิเช่น จากการตั้งชื่อของหนังสือ จากการวิเคราะฮฺและติดตามการนำเสนอหะดีษของท่าน เป็นต้น ... คำว่า "ญามิอฺ" ซึ่งแปลว่า "รวม" บ่งบอกว่าท่านไม่ได้เจาะจงเฉพาะหะดีษเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ท่านได้รวบรวมหะดีษที่เกี่ยวกับ หุก่มหรือบัญญัติศาสนา ฟะฎออีลหรือความประสริฐ ประวัติศาสตร์ มุอามะลาตหรือการสังคม การซื้อขาย อาดาบหรือจริยธรรม ฯลฯ
คำว่า "อัลเศาะหีหฺ" บ่งบอกว่าทุกหะดีษที่ท่านได้บันทึกในหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นหะดีษที่เศาะหีหฺและถูกต้องเท่านั้น
คำว่า "อัลมุสนัด" บ่งบอกว่าหะดีษตามข้อแม้ของท่านนั้นต้องเป็นหะดีษที่มีสายรายงานที่ต่อเนื่องกันและไม่ขาดตอนเท่านั้น ส่วนหะดีษที่เราพบว่าค้านกับข้อแม้ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงหะดีษที่ท่านใช้ประกอบเท่านั้น
คำว่า "มุคตะศ็อร" ซึ่งแปลว่า ย่อ บ่งบอกว่าท่านได้คัดเลือกและย่อหะดีษต่างๆที่มีอยู่ให้เหลือเพียงไม่กี่พันหะดีษดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
คำว่า "มินอุมูร รสูลิลลาฮฺ" หมายถึงจากส่วนหนึ่งของกิจการของท่านรสูล บ่งบอกว่าท่านไม่ได้เจาะจงเฉพาะหีดีษที่เป็นคำพูดของท่านรสูลเท่านั้นแต่จะรวมถึงการกระทำและกิจวัตรประจำวันของท่านด้วย
อีกข้อแม้หนึ่งที่ทำให้หนังสือเศาะหีหฺบุคอรีย์โดดเด่นเหนือหนังสือเศาะหีหฺอื่นๆ คือ บุคอรีย์ตั้งข้อแม้ว่าท่านจะไม่บันทึกหะดีษลงในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะแน่ใจว่านักรายงานหะดีษในสายรายงานดังกล่าวเคยพบหน้าและติดต่อกันเท่านั้น
ในสายตาของท่านคนร่วมสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะได้พบหน้าและติดต่อกันเสมอไปซึ่งเป็นช่องโหว่อย่างหนึ่งที่จำนำไปสู่การโกหกในการรายงานหะดีษได้ ทำให้สถานภาพของหะดีษนั้นตกไป แต่มันเป็นข้อแม้ที่หนักและลำบากมาก ดังนั้นอุละมาอฺหะดีษส่วนใหญ่(แม้แต่มุสลิมซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน) จึงไม่เห็นด้วยกับข้อแม้ของบุคอรีย์อันนี้
การให้ความสำคัญของอุละมาอฺ
เนื่องจากความประเสริฐอันล้นเหลือของหนังสือเล่มนี้ จึงทำให้บรรดาอุละมาอฺหลังจากท่านได้ให้ความสำคัญกับมันอย่างมาก บางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะเนื้อหาของหะดีษเท่านั้นโดยตัดสายรายงานออกดังที่มุนซิรีย์ได้ทำไว้ บางท่านทำการเพิ่มเติมหะดีษเศาะหีหฺที่คิดว่าอยู่ในข้อแม้ของบุคอรีย์แต่ไม่ได้ใส่ไว้ในหนังสือของท่านเล่มนี้ ดังที่หากิมได้เขียนไว้ และหลายท่านทำการอธิบายอย่างยาวเหยียดถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ ดังที่อิบนุหะญัรได้ทำไว้ในหนังสือ "ฟัตหุลบารีย์"ของท่าน ซึ่งเป็นการอธิบายที่สมบูรณ์และครอบคลุมที่สุดจนมีการกล่าวขานว่า "ไม่มีการฮิจเราะฮฺอีกแล้วหลังจากฟัตฮฺ" วัลลอฮุ อะลัม... |
0816969232
089696232